แม้การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) จะดู ‘น่ากลัว’ ว่าสักวันหนึ่งมันอาจแทนที่มนุษย์ในงานหลายๆ อย่าง แต่ในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ AI นับว่ามีประโยชน์หลายอย่างทีเดียว เพราะ AI ‘เปลี่ยนวิธีเรียน’ และ ‘เปลี่ยนวิธีสอน’ บางอย่างที่แม้อาจจะยังไม่เห็นในระบบการศึกษาของประเทศไทย แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอแน่นอนที่เด็กรุ่นใหม่จะได้พบกับการเรียนการสอนของคุณครู AI เหล่านี้
เริ่มตั้งแต่ที่ AI ทำให้วิธีเรียนเปลี่ยนไป จากวิธีเดิมๆ ในอดีตที่นักเรียนจะต้องเดินทางไปโรงเรียน นั่งโต๊ะ ฟังครูสอนหน้าห้อง แล้วจดบันทึก มาสู่รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ปฏิวัติระบบการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ AI ยังช่วยให้คุณครูสามารถลดเวลาทำงานต่างๆ เช่น งานที่ต้องทำซ้ำไปซ้ำมา หรืองานจัดเก็บเอกสารได้อีกด้วย
มีการคาดการณ์กันว่า การใช้ AI ในกิจกรรมทางการศึกษาจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 จนกระทั่งถึงปี 2021 ผลกระทบเชิงบวกของ AI จะปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเรียนของเด็กๆ ชั้นอนุบาลจนถึงการศึกษาขั้นสูง ทั้งจะมีการสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้อีกหลายอย่าง และบางอย่างจะสามารถปรับให้เข้ากับผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ (Personalized Tool) เพื่อให้ได้ผลด้านการเรียนสูงสุด
ต่อไปนี้คือประโยชน์ของ AI ในภาคการศึกษาที่เห็นชัดที่สุด
1. AI ช่วยลดเวลาทำงานซ้ำๆ
AI ช่วยจัดการงานที่ต้องทำซ้ำๆ หรืองานแบบที่เราเรียกกันว่า ‘งานแอดมิน’ สำหรับคุณครูได้ กิจกรรมที่ครูอาจารย์ต้องใช้เวลามากที่สุด หนีไม่พ้นการตรวจการบ้าน ให้คะแนนเรียงความ และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน AI ช่วยได้ในบางเรื่อง เช่น ตรวจงานที่เป็นแบบตัวเลือก (Multiple Choice) เพื่อให้อาจารย์มีเวลาไปให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับนักเรียนมากขึ้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์กำลังหาวิธีตรวจงานที่เป็นแบบเขียนตอบ (Essay) แม้แต่กระบวนการรับนักเรียนเข้าเรียน (Admission) ก็ใช้ AI ช่วยจัดการและจำแนกงานเอกสารต่างๆ ได้
2. AI ช่วยครูสร้างสรรค์เนื้อหาสำหรับสอน
ปัจจุบัน AI สร้าง ‘เนื้อหาการสอน’ ที่ใช้ไวยากรณ์ถูกต้องได้ดีเยี่ยมพอๆ กับครูที่เป็นมนุษย์ อีกทั้งยังช่วยทำอีบุ๊ก (e-book) สร้างช่องทางเรียนรู้แบบดิจิทัลที่เหมาะแก่นักเรียนในช่วงอายุต่างๆ ระบบที่ใช้กันอยู่เช่น Cram101 คือระบบที่ AI ประมวลเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเรียน แล้วทำเป็นแนวเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาย่อยง่าย มีบทสรุปของทุกบท มีแบบทดสอบ และบัตรคำ (Flashcards) สำหรับให้นักเรียนใช้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนอีกเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อ Netex Learning ช่วยอาจารย์ผู้สอนในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้อุปกรณ์ช่วยหลายชนิด เช่น สื่อเสียง (Audio) วิดีโอ และมีผู้ช่วยออนไลน์ นอกจากนี้ การสอนแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็เป็นอีกรูปแบบของ AI ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาของ AI ทำให้มีแอพพลิเคชันสารพัดที่ช่วยให้นักเรียนไม่ต้องเดินทางมาถึงห้องเรียน เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนก็สามารถเรียนได้จากทุกที่ทุกเวลา
3. AI ช่วยเป็นติวเตอร์ประสิทธิภาพสูง
AI มีความสามารถช่วยติวนักเรียนโดยคำนึงถึงปัญหาของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ ช่วยลดข้อจำกัดหลายอย่างในการไปติวหรือขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ เช่น การที่เวลาว่างของอาจารย์แต่ละท่านอาจมีจำกัด บางครั้งนักเรียนไปเข้าพบแต่อาจารย์ไม่ว่าง หรืออาจารย์ต้องดูแลนักเรียนหลายๆ คนพร้อมกัน แต่โปรแกรมติวเตอร์อย่าง Carnegie Learning สามารถประมวลผลข้อมูลทางการเรียนของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้คำแนะนำได้แบบตัวต่อตัว แม้โปรแกรมนี้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นพัฒนา แต่อีกไม่นานก็จะกลายเป็น “อาจารย์ดิจิทัล” อย่างเต็มตัวเพื่อช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ แต่ละคน ที่แม้แต่อาจารย์ตัวจริงก็อาจจะทำได้ไม่ดีเท่า
4. AI เป็นอาจารย์ “เสมือนจริง” ได้
สักวันหนึ่งข้างหน้า อาจารย์ตัวจริงอาจถูกแทนที่โดยอาจารย์หุ่นยนต์ แม้ในขณะนี้ บุคลากรบางอาชีพก็ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ไปแล้ว เช่น มัคคุเทศก์ ที่มีการนำระบบนำเที่ยวด้วยเสียงหรือ AR และ VR เข้ามาเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบไม่ต้องใช้มัคคุเทศก์ หรือพนักงานประสานงานด้านต่างๆ ที่ AI สามารถทำหน้าที่แทนได้อย่างแม่นยำ เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้ ‘คิด’ ได้ จึงมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยบางแห่งเช่น University of Southern California Institute for Creative Technologies ได้พัฒนาสภาพแวดล้อมเสมือนจริงและเครื่องมือเสมือนจริง (Visual Environments and Platforms) ที่ ‘ฉลาด’ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เกมสามมิติ และคอมพิวเตอร์แอนิเมชันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าวสำหรับใช้ในการเรียน ดังนั้นในอนาคต ‘คน’ ที่ยืนบรรยายอยู่หน้าห้อง อาจไม่ใช่ ‘คน’ จริงๆ ที่มีเลือดเนื้อ แต่จะแปลกอะไรหากหุ่นยนต์ก็ให้ความรู้ได้ไม่ต่างจากคน และอาจารย์ที่เป็นคนจริงๆ ต่างหาก ที่กำลังถูกท้าทายให้ต้องรีบปรับตัว เพราะอีกไม่นาน ประโยชน์ข้อนี้ของปัญญาประดิษฐ์ อาจทำให้คุณไม่มีงานทำก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะเข้ามาทำหน้าที่ในระบบการศึกษาได้ดีและครอบคลุมเกือบทุกด้าน และยังท้าทายอำนาจและอาชีพในระบบเดิมอย่างครู อาจารย์ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาด้วย แต่ถึงอย่างนั้น การจะปล่อยให้ AI ทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการหล่อหลอมอนาคตของมวลมนุษยชาติ ก็จำเป็นต้องได้รับการควบคุมดูแลที่ดีมากพอ โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า การที่ AI จะคิดเป็นและถ่ายทอดได้นั้น จะต้องมาจากการที่มนุษย์ ‘สอน’ และป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับ AI ไม่เช่นนั้น AI ก็คงมีสภาพไม่ต่างจากเด็กมีปัญหาที่สับสนกับข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งไม่ได้ผ่านการคัดกรองที่ดีพอนั่นเอง CT
ที่มา :บทความ “4 Ways AI is Changing the Education Industry” (14 เมษายน 2018) โดย Karl Utermohlen จาก towardsdatascience.com
บทความ “How AI Impacts Education” (27 ธันวาคม 2017) โดย Adrien Schmidt จาก forbes.com
https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/